ขอยก.. "พุทธคาถา" สั้น ๆ มาแบ่งปัน ว่าด้วยหลักการปฏิบัติธรรม ที่ควรนำมาท่องจำใส่ใจ แล้วนำไปปฏิบัติ
คาถานี้ควรท่องบ่อย ๆ มีบุญอานิสงส์มากกว่า ท่องคาถาที่แปลไม่ออก แล้วคิดว่าขลัง จะโชคดี ซึ่งเป็นมิจฉาทิฎฐิที่ชาวพุทธจำนวนมากยังสอนและทำกัน
- พุทธคาถา จากพระไตรปิฎก เล่ม 18
..... บุคคลเห็นรูปที่น่าชอบใจหรือเห็นรูปที่ไม่น่าชอบใจแล้ว พึงบรรเทาทางของราคะในรูปที่น่าชอบใจ (รู้เท่าทันราคะ ความชอบ ความรัก ความอยากได้ที่เกิดในใจ) และไม่พึงเสียใจว่า ‘รูปของเราไม่น่ารัก’
[* รูป = สิ่งที่รู้ได้ด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย เช่น.. ร่างกาย คน สัตว์ สิ่งของ :||: นาม = สิ่งที่รู้ได้ด้วยใจ เช่น.. เวทนา (สุข-ทุกข์) ,สัญญา (ความจำได้หมายรู้) ฯ]
- ได้ยินเสียงที่น่ารักและไม่น่ารักแล้ว ไม่พึงกระหายในเสียงที่น่ารัก และพึงบรรเทาความไม่ชอบใจในเสียงที่ไม่น่ารัก และไม่พึงเสียใจว่า ‘เสียงของเราไม่น่ารัก’
- ได้ดมกลิ่นหอมที่น่าชอบใจ และได้ดมกลิ่นเหม็นที่ไม่น่าชอบใจแล้ว พึงบรรเทาความหงุดหงิดในกลิ่นที่ไม่น่าชอบใจ และไม่พึงพอใจในกลิ่นที่น่าชอบใจ
ได้ลิ้มรสที่ไม่อร่อยและอร่อย และลิ้มรสที่ไม่อร่อยในบางคราวแล้ว ไม่พึงติดใจลิ้มรสที่อร่อย และไม่ควรยินร้ายในรสที่ไม่อร่อย
ถูกผัสสะ (การถูกต้อง สัมผัส) ที่เป็นสุขกระทบแล้วไม่พึงมัวเมา แม้ถูกผัสสะที่เป็นทุกข์กระทบแล้วก็ไม่พึงหวั่นไหว
ควรวางเฉยผัสสะทั้งสองทั้งที่เป็นสุขและเป็นทุกข์ ไม่ควรยินดี ไม่ควรยินร้ายกับผัสสะอะไรๆ
- ก็บุคคลบรรเทาใจที่อาศัยกามคุณห้าทั้งปวงแล้ว (คือรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส) ย่อมเปลี่ยนจิตให้ประกอบด้วยเนกขัมมะ (การละเว้นบาป การออกบวช)
ในกาลใดที่บุคคลอบรมใจดีแล้วในอารมณ์ ๖ ประการอย่างนี้ในกาลนั้นจิตของเขาถูกสุขสัมผัสหรือทุกขสัมผัสกระทบแล้วย่อมไม่หวั่นไหวในที่ไหนๆ ครอบงำราคะและโทสะได้แล้วย่อมเป็นผู้ถึงจุดจบแห่งความเกิดและความตาย (นิพพาน)”
ข้อความจาก.. พระไตรปิฎก เล่มที่ 18
----------------
บทสวดที่สมัยพุทธกาลท่านแต่งให้สวด จุดประสงค์คือการแปลแล้วนำมาท่องได้ง่าย จดจำได้ง่าย เพื่อสืบต่อคำสอนของพระพุทธเจ้า และหลักธรรม ให้ท่องแล้วนำมาปฏิบัติ เพื่อพ้นทุกข์ เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นในทุกด้าน
- ไม่ใช่คาถาขลัง ท่องเฉย ๆ แล้วจะร่ำรวยโชคดี (เมื่อจิตเป็นกุศล มีศีล มีปัญญา มีการให้ทาน จิตเมตตา พลังจิตแบบนี้เท่านั้น จะดึงดูดสิ่งดี ๆ คนดี ๆ งานดี ๆ เข้ามาในชีวิต : อย่าลืมเรื่องกรรมชาติก่อนด้วย)
ให้สังเกตว่า.. การนำพระคาถานี้ไปท่อง แล้วปฏิบัติตาม สามารถทำได้ในทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพ และเมื่อทำได้ ก็ถือเป็นการออกบวชเช่นกัน (เนกขัมมะ)
ไม่จำเป็นต้องไปทำพิธี หรือต้องห่มเหลือง ก็ถือว่าได้บวชอยู่กับบ้าน ได้อานิสงส์ มีโอกาสบรรลุธรรมได้ ตราบเท่าที่มีความเพียรต่อเนื่อง
ไม่จำเป็นต้องไปทำพิธี หรือต้องห่มเหลือง ก็ถือว่าได้บวชอยู่กับบ้าน ได้อานิสงส์ มีโอกาสบรรลุธรรมได้ ตราบเท่าที่มีความเพียรต่อเนื่อง
- ข้อนี้เป็นบุญใหญ่สุด เมื่อเจริญสติ วางจิตได้ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอน จิตที่มีสติ จะเกิดศีลโดยอัตโนมัติ (ศีล.. คือการไม่เบียดเบียน ผู้มีสติย่อมไม่เบียดเบียนตนและผู้อื่น)
เมื่อมีศีล มีปัญญา จะเกิดการให้ทานอย่างถูกต้องตามมา ด้วยจิตที่กิเลสเบาบาง ย่อมให้ทานอย่างสม่ำเสมอ และเกิดประโยชน์ได้จริง
ศาสนาไม่ได้ยาก แต่ก็ไม่ได้ง่าย แต่ถ้าเข้าใจหลัก เข้าใจแก่น เราก็สามารถหาสิ่งที่ง่ายที่สุด สำหรับตัวเราได้ จากที่อัดเสียงธรรมมาหลายแนว พระคาถานี้ ถือเป็นหลักธรรมที่เหมาะสมกับคนยุคปัจจุบันมาก และไม่ได้ยากเกินไป
หากคุณไม่มีเวลาศึกษาพระไตรปิฎกได้จบทั้งหมด หลักการนี้ จะมีประโยชน์ และนำไปสู่สัมมาทิฎฐิ ไปสู่การพ้นทุกข์ได้ โดยที่อาจไม่ต้องรู้อะไรมากเลยก็ได้ครับ