รู้จัก..เจ้ากรรมนายเวร!!
สำหรับผู้สนใจพ้นทุกข์ อันดับแรกที่ควรใส่ใจคือ ต้องเปิดใจ เผื่อใจไว้รับข้อมูลใหม่ ๆ หลายแนวทาง ด้วยใจเป็นกลาง โดยไม่เอาทิฏฐิ ความเชื่อเดิมของตนมาเป็นกำแพงไว้ก่อน
คนจำนวนมากใฝ่ดี แต่ลงเหว ก็เพราะการยึดมั่นในความเชื่อเดิมของตน เจ้ากรรมนายเวร หากจะอธิบายให้เห็นภาพง่าย และเท่าที่มีหลักฐานในพระไตรปิฎก และไม่ขัดแย้งกับหลักของกฎแห่งกรรม อาจแบ่งได้เป็นสองประเภทดังนี้
คนจำนวนมากใฝ่ดี แต่ลงเหว ก็เพราะการยึดมั่นในความเชื่อเดิมของตน เจ้ากรรมนายเวร หากจะอธิบายให้เห็นภาพง่าย และเท่าที่มีหลักฐานในพระไตรปิฎก และไม่ขัดแย้งกับหลักของกฎแห่งกรรม อาจแบ่งได้เป็นสองประเภทดังนี้
เจ้ากรรมนายเวรที่คอยส่งผลให้ชีวิตของเรา ประเภทแรกคือ.. หลักกฎแห่งกรรมที่ทำอะไรไว้จะมีผลสะท้อนกลับหาเราเสมอ เหมือนเอามีดกรีดแขน ก็ต้องเกิดแผลเจ็บปวด
วิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้คร่าว ๆ ว่าการพูดคิดทำดี ส่งให้เกิดคลื่นพลังงานอย่างหนึ่ง การพูดคิดทำชั่ว ส่งให้เกิดคลื่นพลังงานที่ตรงข้ามกัน คลื่นพลังต่างกันจะต่อต้านกัน พลังงานเหมือนกันจะดูดเข้าหากัน
คนมีน้ำใจเจอคนเห็นแก่ตัวจะรู้สึกขยะแขยงอย่างหาสาเหตุไม่ได้ คนชั่วเจอคนดีจะรู้สึกไม่เร้าใจไม่น่าคบเป็นแฟน เด็กหลังห้องจะหมั่นไส้เด็กหน้าห้อง พนักงานเลวจะหมั่นไส้คอยกลั่นแกล้งพนักงานดีที่ขยันเกินหน้า
พลังงานจากจิตผลักและดึงคนที่สันดานเหมาะกับเรามาวนเวียนในชีวิต แฟนหรือเพื่อนแค่คนเดียวอาจทำชีวิตเราล่มจมหรือเจริญขึ้นได้อย่างไม่น่าเชื่อ
นี่จึงเป็นข้อแรกของมงคลสูตรคือ.. “อย่าคบคนพาล” ซึ่งบทมงคลสูตรที่ให้เอามาท่องกันต้องท่องและแปลให้ได้และเอามาปฏิบัติตาม ไม่ใช่ท่องเป็นนกแก้วนกขุนทองท่อง เป็นภาษาบาลีที่แปลไม่ออกและคิดว่าท่อง 108 จบ แล้วจะโชคดี
ถ้าแปลออกจะเข้าใจว่า มงคลสูตรข้อแรกคือ.. อย่าคบคนพาล ซึ่งคนพาลไม่ใช่คนเลวอย่างเดียวแต่หมายถึงคนโง่ด้วย เพราะคนโง่ต่อให้ขยันและเป็นคนดี ก็อาจทำความเสียหายได้มากกว่าที่คิด
เช่น.. ทำงานผิดพลาดใหญ่จนแก้ไขยาก (ไม่ทำซะดีกว่า) อาสาขับรถไปส่ง อาจพาไปตายยกครอบครัว เราเมตตาคนโง่และคนพาลได้ แต่ไม่ควรใกล้ชิดหรือคบค้าสมาคม
มีเพื่อนไม่ดีสู้ไม่มีเลยซะดีกว่า ขึ้นคานยังดีกว่ามีแฟนไม่ดี ทำงานคนเดียวแม้เหนื่อยแต่ยังดีกว่าใช้คนโง่ให้ช่วยงาน ที่อาจต้องเหนื่อยกว่าเดิมหลายเท่า จากการตามแก้ไขปัญหาที่เกิดจากคนพวกนี้
ครูบาอาจารย์สอนไว้ว่า คนโง่ที่ขยันอาจทำประเทศชาติฉิบหายได้อย่างน่ากลัว สารพัดโครงการโง่ ๆ ที่เราก็เห็นว่าหลายรัฐบาล หลายหน่วยงาน ทำชาติเสียหายไปเท่าไหร่ ?
คนที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจล้วนได้โอกาสดี ๆ จากผู้ใหญ่ที่เมตตา จากเพื่อนเก่าและคนรอบข้าง ได้กำลังใจและแนวคิดดีจากคนรักและครอบครัว ได้ความจงรักภักดีจากพนักงานที่ทุ่มเททำงานให้เต็มที่
กระแสจิตที่ดีทำให้เป็นที่เมตตาของคนดีได้ง่าย ลูกค้าและผู้ใหญ่ให้ความไว้วางใจ เมื่อเจอคนไม่ดี จะรู้สึกได้ทันทีว่าไม่น่าคบหา ไม่น่าค้าขายทำธุรกิจด้วย
ความรุ่งเรืองของชีวิตที่มั่นคงล้วนมาจากคนรอบข้างที่ดีทั้งนั้น นี่คือกฎแห่งกรรมในแง่คลื่นพลังงานที่ทุกคนสัมผัสได้ในชีวิตจริง
อย่าหลงประเด็นที่เห็นคนได้ดีเพราะทำชั่วหรือธุรกิจบาป เพราะเราอาจไม่รู้ว่า เบื้องหลังที่มีพร้อมทุกอย่าง เต็มไปด้วยเรื่องปวดหัวปวดใจเข้ามาทุกวันมากแค่ไหน หรือไม่ก็ทำให้ลุ่มหลงมัวเมาในกามและสุขจอมปลอมจนถอนตัวไม่ขึ้นอย่างไร
บางทีเพราะผลจากกรรมชั่วที่เคยทำ ส่งให้คิดชั่วได้ง่าย เจริญในด้านชั่ว ๆ สะสมบาปติดตัวได้มากกว่าคนอื่น จะเห็นผลลัพธ์เต็มที่อาจต้องรอดูหลังตาย คือความลำบากน่าสมเพชหลังเกิดใหม่เป็นผีอดอยาก หรือ เดรัจฉานน่าสังเวช อดอยาก ผอมโซ โดนทำร้ายให้น่าสงสารในภพหน้า
หมายเหตุ : คนบางคนทำชั่วแล้วรวย เพราะอดีตอาจเคยทำดีมามาก เช่น การบริจาคช่วยเหลือคนไว้มาก แต่ไม่ได้ทำบุญด้านปัญญา บุญส่งผลให้มีอำนาจ มีเงิน มีโอกาส ในการโกง ในการทำชั่วได้มากกว่าเดิม
แม้แต่เคยรักษาศีลมาดี จึงเกิดมาหล่อสวย แต่เพราะขาดปัญญา เกิดใหม่จึงใช้ความสวยหล่อไปทำเรื่องชั่ว หลอกลวงทำร้ายคน สร้างบาปได้มาก ได้ง่ายขึ้น ดังนั้นการให้ธรรมะ จึงชนะการให้ทั้งปวง ดังพระพุทธองค์ตรัสไว้
"ปัญญา"(ทางธรรม) เกิดได้ด้วยการอบรมกาย อบรมจิตตนเป็นหลักด้วยนะครับ แต่การให้ธรรมเป็นบุญเสริมส่งกัน ทำให้เอื้อต่อการเกิดมาเป็นสัมมาทิฏฐิ
เจ้ากรรมนายเวรแบบที่สอง..เป็นตัวตนมีอยู่จริงทั้งผีและคน หากมองโลกหลังความตายเป็นเหมือนสิ่งมีชีวิตต่างสายพันธ์ที่อยู่ร่วมกับเรา ต่างกันแค่เขาไม่มีกายหยาบเท่านั้น แต่ความรู้สึกและสภาพสังคมยังมีอะไรคล้ายกัน
จิตใจคนตายแต่ละคนยังเป็นคนเดิม หากสงสัยว่าใครตั้งกฎในนรกสวรรค์ ต้องถามกลับว่า ใครตั้งกฎบนโลกนี้?? โลกมีตำรวจ นรกก็มีนายนิรยบาล เมื่อมีประชากรก็ต้องมีคนมีศักยภาพพอจะเป็นหัวหน้าควบคุมดูแลอีกทีเพื่อความเรียบร้อยในการอยู่ร่วมกัน
ซึ่งมันซับซ้อนเกินกว่าคนไม่ปฏิบัติธรรม ไม่ศึกษาให้ละเอียดจะเข้าใจได้ครบถ้วน (ดังนั้นจึงต้องศึกษา และเปิดใจรับข้อมูลทุกด้าน)
การตามทวงหนี้กรรมจากวิญญาณอาฆาต มีตัวอย่างในพระไตรปิฎก หญิงโสเภณีถูกฆ่าตายผูกใจเจ็บ กลายเป็นผีร้ายรอล้างแค้นมานานหลายชาติ เธอตามแก้แค้นด้วยใจที่ทรมาณในสภาพผีร้าย ในที่สุดสบโอกาสเข้าสิงแม่โคไปขวิดท่านพาหิยะตายขณะพึ่งบรรลุอรหันต์
ขนาดระดับพระอรหันต์ ยังมีเจ้ากรรมนายเวรเป็นผีร้ายตามมา พวกเราจะเหลืออะไร ดังนั้นทำความดีให้ถูกทางอาจบรรเทา หรือเลื่อนเวลาให้ผลออกไปได้
บางคนสงสัยว่า.. ทำไมผีที่ถูกฆ่าตายถึงไม่ตามไปล้างแค้นให้หมด ?ความจริงคือผีไม่ต่างกับคน ในโลกนี้หากเราทำร้ายคนสิบคน จะมีบางคนให้อภัยไม่เอาเรื่อง และบางคนคิดตอบโต้หาทางเอาคืน
หากเรารวยมีอำนาจ คนธรรมดาคงแก้แค้นได้ยาก คล้ายนักการเมืองโกง ทุกคนรู้แต่ทำอะไรไม่ได้ แค่สาปแช่งและต้องรอให้หมดอำนาจก่อน ถึงจะจัดการทำอะไรได้
เช่นเดียวกัน ถ้าหากเรามีบุญมาก แม้เจ้ากรรมนายเวรเก่าของเราที่เป็นผีอยากทำร้ายเราแค่ไหน แต่ด้วยกรรมดีของเรา จะขวางเขาไม่ให้มีโอกาสทำร้าย
ส่วนกรณีท่านพาหิยะที่เพิ่งบรรลุอรหันต์ นั่นคือชาติสุดท้ายของท่าน โอกาสที่จะแก้แค้นไม่มีแล้ว กฎแห่งกรรมจึงเปิดโอกาสให้แก้แค้นครั้งสุดท้ายได้ ซึ่งท่านไม่มีความเจ็บปวดหรือทรมาณทุกข์ใจ เพราะสำเร็จอรหันต์แล้ว
ไม่ต้องกลัวว่าเราจะทรมาณโดนแก้แค้นตอนเป็นอรหันต์ เพราะเมื่อเข้าถึงสภาพนั้น ความทุกข์เข้าถึงใจไมได้แน่ ถึงเวลานั้นใครจะแก้แค้นก็รับไปเถอะ ไม่ทุกข์หรอก
คนตายแล้วเกิดเป็นอะไรอยู่ที่จิตสุดท้าย หากให้อภัยไม่โกรธ จิตผ่องใสจะไปเกิดเป็นเทวดามีความสุข จึงไม่เห็นประโยชน์ในการตามล้างแค้น ปล่อยให้กฎแห่งกรรมจัดการเองดีกว่า
ก่อนตายหากแค้นเคืองจิตเศร้าหมอง แถมบาปเก่าเยอะก็ลงนรกทันที จึงไม่มีโอกาสตามล้างแค้น เมื่อหมดกรรมในนรกแล้วจิตยังอาฆาต อาจได้กำเนิดใหม่เป็นวิญญาณร้าย ตามจองเวรอีกหลายชาติต่อมา
หรือสุดท้ายถ้าได้เกิดเป็นคน อาจมาเกิดเป็นลูก (ชั่ว) เป็นคู่แข่งทางธุรกิจ เป็นพนักงานขี้โกง ได้เกิดมามีโอกาสทำร้ายคืน วนเวียนทำร้ายกันไปไม่จบสิ้น เคยถูกเขาฆ่าจะมีโอกาสได้ฆ่าเขาคืนบ้าง
เคยถูกข่มขืนจะมีโอกาสข่มขืนคืนบ้างแก้แค้นเสร็จหลังตายก็ไปนรก หมดกรรมได้เกิดใหม่อีกที เพื่อให้เขาทำร้ายคืนบ้าง ผลัดกันเปลี่ยนบทบาทเป็นโจรผู้โหดเหี้ยม และเป็นคนหรือสัตว์โชคร้ายที่น่าสงสาร เป็นวงเวียนกรรมไม่จบสิ้น
เหตุนี้หลายศาสนาถึงเน้นเรื่องเมตตาให้อภัย ไม่ตอบโต้ ไม่ให้โกรธคนทำไม่ดี ให้ศรัทธาพระเจ้าหรือกฎแห่งกรรม ที่จะลงโทษคนชั่วให้เองอย่างสาสม.